Thursday, February 11, 2016

การบริหารความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ (Creative Conflict Management)

"เจี๊ยบตัดหนังยางเราทำไม?" "เจี๊ยบทำยังงี้ทำไม?"

“เจี๊ยบ” เดินไปตัดหนังยาง โดยคิดเพียงว่า
ถ้าตัดแล้วก็จะได้เข้ากลุ่มเด็กชาย
แต่สิ่งที่ “น้อยหน่า” แสดงตอบกลับมา
ทำให้ “เจี๊ยบ” รู้สึกผิดอย่างคาดไม่ถึง

ฉากหนึ่งจากหนังเรื่อง "แฟนฉัน"

หลายคนที่เคยดูหนังเรื่องนี้ คงจะไม่มีใครที่จะลืมฉากนี้ไปได้
เพราะนี่คือฉากที่สะเทือนอารมณ์สุดๆ

นี่คือหนึ่งตัวอย่างของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ความขัดแย้งเกิดได้กับทุกคน เกิดได้ตลอดเวลา
และบางครั้ง...เราก็เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง
โดยที่เราไม่รู้ตัว

จึงเป็นที่มาให้ กพ. ได้จัดอบรมหลักสูตรดีๆ
เรื่อง...การบริหารความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
หรือ Creative Conflict Management

เมื่อพูดถึงความขัดแย้ง พบว่า...
สาเหตุหลักของความขัดแย้งมาจากการสื่อสาร
และการเปลี่ยนแปลงเป็นความเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้ง
เมื่อนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ของเจี๊ยบและน้อยหน่า
จะเห็นว่า “การตัดหนังยาง” คือวิธีการสื่อสารอย่างหนึ่ง
และ “การเปลี่ยนแปลงของเจี๊ยบที่ต้องการย้ายกลุ่มเพื่อน”
ก็คือความเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตามเราไม่จำเป็นต้องจัดการความขัดแย้งทุกครั้ง
เราจะจัดการความขัดแย้งต่อเมื่อมีคุณค่าพอเท่านั้น
ความขัดแย้งในบางเรื่อง บางครั้งก็ต้องให้คนอื่นจัดการ
เราจะจัดการความขัดแย้ง เมื่อความขัดแย้งไปกระทบกับ...
ผลผลิตขององค์กร บรรยากาศการทำงานร่วมกัน
และประสิทธิภาพของงานส่วนบุคคลลดลง

สำหรับแนวทางการจัดการความขัดแย้ง
เราต้องมีมุมมองที่ถูกต้องก่อนว่า...
ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติธรรมดา เกิดขึ้นเสมอในองค์กร
ความขัดแย้งเป็นเรื่องของการพัฒนาทางความคิด
และส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าขององค์กร
เมื่อมีมุมมองที่ถูกต้องแล้ว
เราจึงค่อยหาแนวทางการจัดการ
ซึ่งแนวทางการจัดการที่ดี ก็คือ
การเปลี่ยนความขัดแย้งจากปัญหา
ให้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์
ทำความเข้าใจกับความขัดแย้งนั้นๆ
โดยใช้ทักษะการตั้งคำถาม
ทบทวนไตร่ตรอง หาเหตุผล
และใช้ความขัดแย้งนั้น
เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกัน

จริงๆ แล้ว...วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
แบ่งออกเป็น 3 วิธีหลัก คือ
“แพ้-แพ้” “ชนะ-แพ้” และ “ชนะ-ชนะ”

วิธี แพ้-แพ้
ถอยทั้งคู่ ยอมถอยกันคนละข้าง
เจรจาต่อรองเพื่อลดเป้าหมายของแต่ละข้างลงมา
มักใช้กับกรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรไม่เพียงพอ
ที่ทั้งสองฝ่าย มีความต้องการเหมือนกัน

วิธีชนะ-แพ้
ตัวอย่างเช่น การใช้พรรคพวก เสียงข้างมาก
การใช้อำนาจในการบังคับบัญชา
ข่มขู่ให้กลัวโดยการสร้างเงื่อนไข
เสนอให้ข้อแลกเปลี่ยน
ส่วนใหญ่มักใช้วิธีนี้เยอะ แต่อาจจะมีปัญหาระยะยาวตามมา

วิธีชนะ-ชนะ
หาวิธีที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
ใช้ขั้นตอนของการแก้ปัญหา
ไม่ค่อยมีคนใช้วิธีนี้ เพราะเหนื่อย

การจัดการความขัดแย้งในแต่ละวิธี
ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
เราในฐานะผู้มีหน้าที่จัดการความขัดแย้ง
ต้องเป็นผู้ตัดสินว่าวิธีไหนจะเหมาะสมที่สุด

แต่ภายใต้การตัดสินใจที่ดีควรประกอบด้วย
“ได้ใจ” และ “ได้งาน”
คือ ปัญหาได้รับการแก้ไข และรักษาสัมพันธภาพ

ท้ายที่สุด...
แต่ละคนล้วนแตกต่าง
ความแตกต่างไม่ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง
แต่การไม่ยอมรับความแตกต่าง...ต่างหาก
ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง
เพียงแค่เรายอมรับ...ความขัดแย้งก็จะลดน้อยลง

No comments:

Google