Thursday, February 11, 2016

ทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการนำเสนองานอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective English Presentation Skill)



ทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการนำเสนองานอย่างมีประสิทธิภาพ
(Effective English Presentation Skill)
พาฝัน กิติเงิน
เภสัชกรชำนาญการ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

“Stay Hungry, Stay Foolish”

วลีเด็ดที่ได้จากคลิปที่มีการถูกส่งต่ออย่างมากมายในช่วงเดือนตุลาคม 2554 ในเดือนที่มีการเสียชีวิตของ สตีฟ จ็อบส์ คาดว่าหลายคนคงยังจำได้ดี ซึ่งคลิปนี้เป็นปาฐกถาพิเศษของ สตีฟ จ็อบส์ ในพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี 2548 และเชื่อว่าหลายคนที่ได้มีโอกาสชมคลิปนี้ต่างรู้สึกประทับใจในถ้อยคำที่ สตีฟ จ็อบส์ ได้ถ่ายทอดออกมา

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สตีฟ จ็อบส์ เป็นบุคคลหนึ่งที่สามารถนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ทุกครั้งที่สตีฟ จ็อบส์ ได้นำเสนอเพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัท แอปเปิล ต่างสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่รับชมการนำเสนอนั้น และกระตุ้นให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

แต่เบื้องหลังความสำเร็จของการนำเสนอนี้ อาจจะไม่มีใครทราบเลยว่า สตีฟ จ็อบส์ ได้มีการเตรียมการมาล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน

ซึ่งนี่เป็นที่มาว่าหัวใจของการนำเสนอที่ดี คือ การฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน

สำนักงาน ก.พ. ได้จัดอบรมเรื่อง “ทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการนำเสนองานอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective English Presentation Skill)” โดย Mr. Warren Robert Kerr ซึ่งวิทยากรได้ให้ความรู้และทักษะเกี่ยวกับการนำเสนองานภายในเวลา 1 วัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งในเรื่องของการกล่าวนำก่อนการนำเสนอ โดยต้องบอกให้ผู้ฟังได้ทราบว่า เราชื่ออะไร เป็นใคร จะนำเสนอเรื่องอะไร ใช้เวลาสำหรับการนำเสนอนานเท่าไหร่ จะเปิดโอกาสให้ถามตอนไหน และเรื่องที่นำเสนอแบ่งออกเป็นกี่ส่วน อะไรบ้าง

การใช้คำเชื่อม ซึ่งคำเชื่อมนี้ช่วยให้ผู้ฟังสามารถติดตามเรื่องราวที่ผู้พูดนำเสนอได้อย่างดี โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้พูดไม่ใช้ได้อุปกรณ์ประกอบการนำเสนอ เพราะคำเชื่อมจะช่วยบอกให้ผู้ฟังรู้ว่า ผู้พูดจะกล่าวถึงหัวข้อถัดไป “Let’s move on to the next point.” หรือจะกลับมาพูดถึงเรื่องที่ได้กล่าวไว้แล้วก่อนหน้า “Let me now come back to what I said earlier.” หรือตอนนี้ได้มาถึงส่วนสุดท้ายของการนำเสนอแล้ว “This brings me to the end of my presentation.”

การเตรียมอุปกรณ์ประกอบการนำเสนอ โดยเฉพาะการเตรียมไฟล์นำเสนองาน (Power point) ภาพที่ใช้ประกอบควรเป็นภาพที่สอดคล้องกับเรื่องที่นำเสนอ รวมทั้งเป็นภาพที่มีความคมชัด ข้อความที่ใช้ควรเป็นข้อความสั้นๆ ไม่ให้ข้อมูลบนไฟล์จนมากเกินไป ทั้งนี้อาจจะใส่ลูกเล่นเข้าไปในไฟล์ เช่น effect ต่างๆ เพื่อให้น่าสนใจมากขึ้น

ท่าทางที่เหมาะสมในการนำเสนอ ควรยืนท่าสบาย ไม่ขยับขาไปมา ไม่ยืนกอดอก อาจจะใช้มือเพื่อช่วยแสดงอารมณ์ตอนที่ผู้พูดเน้นความสำคัญในบางประโยค และควรจะสบตากับผู้ฟังทุกคนในห้อง ซึ่งการสบตาดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ฟังตั้งใจฟังมากขึ้น

รวมทั้งเทคนิคเกี่ยวกับการตอบคำถาม โดยที่ผู้พูดจะไม่ตอบคำถามให้ยืดยาวจนเกินไป เพื่อว่าจะได้มีเวลาสำหรับคำถามต่อๆ ไป เพราะหากผู้พูดได้รับฟังหลายๆ คำถาม ก็จะสามารถประเมินความเข้าใจของผู้ฟังโดยรวมได้

และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้นำเสนองานต้องระลึกเสมอว่า “ผู้พูดมีหน้าที่ทำให้ผู้ฟังดูฉลาด ดูดี คือ ทำให้ผู้ฟังเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดนำเสนอ ไม่ใช่ การนำเสนองานให้ผู้ฟังชมว่า ผู้พูดดูดี แต่ผู้ฟังไม่เข้าใจเรื่องที่นำเสนอเลย”

บทความนี้เผยแพร่ที่ :
วารสารข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์ ฉบับประจําเดือน กรกฎาคม – กันยายน 2558 หน้า 3
http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/HiPPS/2558/Newsletter/News15.pdf


No comments:

Google